ประวัติโรงเรียน

 ระวัติโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม

          โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม  แต่เดิมนั้นกำเนิดมาจากการที่บิดา มารดานำกุลบุตรมาฝากเป็นศิษย์วัดกินอยู่หลับนอนที่วัดเพื่อศึกษาเล่าเรียนกับพระผู้เป็นอาจารย์มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล  คล้ายกับเป็นครูใหญ่ พระลูกวัดเป็นครูน้อย  อาศัยกุฏิพระและศาลาการเปรียญหน้าโบสถ์หน้าวิหารของวัดเขมาภิรตารามเป็นสถานที่เล่าเรียน  ในสมัยนั้นวิชาที่สอนมี  วิชาภาษาไทย  ภาษาขอม  การอ่าน  การเขียน  การคัดลายมือ  ศีลธรรม  พระพุทธศาสนา  ประวัติศาสตร์  พงศาวดารไทย  จากความรู้และประสบการณ์จากพระผู้สอน

          พ.ศ.2443  ท่านเจ้าคุณ พระวินัยรักขิต (คง ปัญญาทีโป)  เป็นเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตารามขึ้นครองวัด  ท่านมีความประสงค์จะส่งเสริมการศึกษาของกุลบุตรให้เจริญยิ่งขึ้น  ประจวบกับเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ขยายการศึกษาออกไปยังหัวเมืองมีการตั้งโรงเรียนหลวงหรือโรงเรียนรัฐบาลในหัวเมืองหลายแห่ง  โดยมีกรมศึกษาธิการในสมัยนั้น  เป็นผู้ดำเนินการตามราชประสงค์  ท่านเจ้าคุณพระวินัยรักขิตเห็นว่า  กุลบุตรที่นิยมเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรจะดำเนินการ  ขอจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นจึงได้ติดต่อ กรมศึกษาธิการให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นที่วัดเขมาภิรตาราม

          พ.ศ.2449  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียร  ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  มาปลูกที่วัดเขมาภิรตารามและทรงพระราชทานให้ใช้เป็นโรงเรียนนับว่าเป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม

          พ.ศ.2450  กรมศึกษาธิการ  จึงได้อนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดเขมาภิรตารามโดย  ให้ชื่อว่า  “โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม” ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น โรงเรียนรัฐบาล สถานศึกษาเล่าเรียน และยังคงใช้ พระที่นั่งมูลมณเฑียรที่สร้างขึ้นใหม่ศาลาภายในวัดต่างๆกุฏิพระและใต้อาคารเรียนเรื่อยมาโดยมีท่านเจ้าคุณพระวินัยรักขิตเป็นผู้อุปการะโรงเรียน

          พ.ศ.2482  โรงเรียนเริ่มมีอาคารไม้ 2 ชั้น  จำนวน 1 หลัง  มี 12 ห้องเรียนและได้เปลี่ยนชื่อ โรงเรียนใหม่เป็น  “โรงเรียนกลาโหมอุทิศ”  เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่กระทรวงกลาโหม  ร่วมกับข้าราชการกระทรวงกลาโหม  ที่บริจาคเงิน  6,000  บาท  และกระทรวงศึกษาธิการ  ให้เงินสมทบอีก  3,840 บาท  และใช้พระที่นั่งมูลมณเฑียรเป็นอาคารเรียน

          พ.ศ.2495  ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ให้กระทรวงศึกษาธิการ  ติดต่อขอซื้อที่ดินของชาวบ้าน  ทางทิศเหนือของวัดอีก 13 ไร่ 86 ตารางวา  และรวมกับที่ดินของวัด 3 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา รวมเป็นที่ดิน 16 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา  ทำการปรับปรุงก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น แบบ 242 จำนวน 22 ห้องเรียน  ปัจจุบันคือ  อาคาร 1  สิ้นเงินก่อสร้าง  6,966,900 บาท  ใช้เป็นอาคารเรียนเมื่อ  25  มิถุนายน  2497  โดย  ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็นประธานพิธีเปิด  และเปลี่ยนชื่อเป็น  “โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม”

          พ.ศ.2498  กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติเงินต่อเติมอาคาร 1 อีก 10 ห้องเรียน  เป็นเงิน  1,500,000 บาท  รวมเป็น 32 ห้องเรียน

          พ.ศ.2513  ได้รับอนุมัติให้สร้างอาคารเรียน 3 ชั้น  1 หลัง จำนวน 18 ห้องเรียน  ปัจจุบันคือ อาคาร 2

          พ.ศ.2515  สร้างเรือนกลาโหมเป็นอาคารไม้  ซึ่งปัจจุบันได้รื้อถอนไปแล้วในปี พ.ศ.2530

          พ.ศ.2516  ได้รับประมาณ  2,800,000 บาท  สร้างอาคารเรียน 4 ชั้น อีก 1 หลัง ปัจจุบันคือ  อาคาร 4

          พ.ศ.2516-2518 ได้รับงบประมาณ  4,000,000 บาท  ต่อเติมอาคาร 6  จำนวน 6 ห้องเรียนปรับปรุงเป็นอาคารวิทยาศาสตร์ชั้นล่าง  เป็นห้องสมุดและสร้างโรงฝึกงานอุตสาหกรรม จำนวน 6 หน่วย  ต่อมาในปี พ.ศ.2542  ได้รื้อชั้นล่างทำเป็นพื้นที่พักผ่อนและเล่นกีฬาของนักเรียน

          พ.ศ.2523  โรงเรียนได้รับงบประมาณ  5,000,000 บาท  สร้างอาคารพิเศษ 1 หลัง ปัจจุบัน คือ อาคาร 5

          พ.ศ.2527  สมาคมศิษย์เก่าเขมาภิรตาราม จัดสร้าง  “ศาลากตัญญูกตเวทิตานนุสรณ์” ประดิษฐานรูปหล่อพระวินัยรักขิต ผู้ให้กำเนิดโรงเรียน บริเวณหน้าอาคาร 1

          พ.ศ.2530  สมาคมศิษย์เก่า เขมาภิรตาราม สมาคมผู้ปกครองและครูเขมาภิรตาราม  และผู้มีจิตศรัทธา  ร่วมกันบริจาคเงินสร้างหอสมุด “พระเทพญาณกวี” แทนอาคาร 3 ที่รื้อไป

          พ.ศ.2531  ได้รับงบประมาณ  3,500,000 บาท สร้างอาคารหอประชุมและโรงอาหารและตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่า  “หอประชุม จอมพล ป. พิบูลสงคราม

          พ.ศ.2532  ได้รับอนุเคราะห์ จากสมาคมศิษย์เก่า เขมาภิรตาราม  สร้างอนุสาวรีย์ ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเงิน 1,114,000 บาท และทำพิธีเปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2532

          พ.ศ.2533  ได้รับงบประมาณ  5,850,400 บาท ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ 2 ชั้น  ปัจจุบันคืออาคารพลศึกษาหรือ อาคาร 3

          พ.ศ.2536  โรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัลพระราชทานโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่จากกระทรวงศึกษาธิการ

          พ.ศ.2539-2541  ได้รับงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาจำนวน 3,800,000 บาท  ก่อสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 7 ชั้น  ปัจจุบันคือ อาคาร 6 

          พ.ศ.2541  ได้รับเงินสนับสนุนจากสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน จำนวน 260,000 บาท  สมาคมศิษย์เก่าเขมาภิรตาราม  จำนวน  200,000 บาท  และเงินบริจาคอื่นๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น  1,000,000 บาท  สร้างเสาธงพร้อมฐาน เทพื้นสนามกีฬาเป็นคอนกรีต ปรับแต่งสนามโดยรอบให้สวยงามและจัดซ่อมประตูอัลลอยด์หน้าอาคารเรียน 1

          พ.ศ.2542  ได้รับงบประมาณทำระบบระบายน้ำ  และบำบัดน้ำเสีย เป็นเงิน  1,600,000 บาท  ปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงานของชาติ โดยการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในอาคารเรียนและอาคารประกอบต่าง ๆ

          พ.ศ.2543  ได้ปรับปรุงห้องน้ำนักเรียนชาย ทำประตูม้วน เหล็กดัดหน้าต่าง  อาคารเรียนต่าง ๆ     ต่อเติมหลังคาบริเวณระเบียงห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงครามและห้องอาหารครู

          พ.ศ.2544  ได้ปรับปรุงโรงอาหารโดยปูพื้นเป็นกระเบื้องและจัดทำช่องกั้นทางเดินเข้าร้าน

          พ.ศ.2545  ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครองและครูเขมาภิรตาราม จำนวน  98,000 บาท  สร้างห้องน้ำนักเรียนชาย-หญิง

          พ.ศ.2546  ทาสีหลังคา อาคาร 1 และอาคาร 5 และปรับปรุงศาลาหลวงปู่คง  ปัญญาทีโป

          พ.ศ.2547  จัดทำห้อง ICT ห้อง Resources  Center และห้อง  Self  Access  ปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง จัดทำเวทีหน้าเสาธง  ป้ายชื่อหน้าโรงเรียน ซ่อมแซมอาคาร 1

          พ.ศ.2548  จัดทำห้อง  E-Learning ห้องปฏิบัติการ สอนวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา)

          พ.ศ.2549  ปรับปรุงทาสีและปูพื้นกระเบื้องห้องเรียน อาคาร 5

          พ.ศ.2550  ปรับปรุงอาคาร 1  เป็นอาคารสำนักงานฝ่ายต่าง ๆ  ห้องสมุด  และพิพิธภัณฑ์การศึกษา  ห้องเรียนพิเศษโครงการส่งเสริมคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์  โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ  (E.P.)  และกลุ่มสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการศึกษา  นอกจากนี้ได้ปรับปรุงอาคารสถานที่โดยรวมทั้งโรงเรียนดังนี้

                   –  ปรับปรุงโรงฝึกงานอุตสาหกรรมศิลป์เป็นอาคารศิลปศึกษา (อาคาร 3)

                   –   ปรับปรุงอาคาร 2  เป็นอาคารกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

                   –  ปรับปรุงอาคารหอสมุดพระเทพญาณกวีเป็นสำนักงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและห้องเรียนพิเศษโครงการส่งเสริมคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์

                   –  ปรับปรุงอาคาร 4  เป็นอาคารกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

                   –  ปรับปรุงอาคาร 6  เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

                   –  ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสนามโรงเรียน  โดยจัดสร้างศาลาทรงไทย  จำนวน 5 หลัง  พร้อมจัดสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นสวนหย่อม  สวนหิน

                   –  ปรับปรุงพื้นสนามโรงเรียนเป็นลานซีเมนต์เต็มพื้นที่

          พ.ศ.2551  ปรับปรุงหอประชุม จอมพล ป.พิบูลสงคราม  โดยติดแอร์เต็มรูปแบบจำนวน 15 ตัว

          พ.ศ.2552  ปรับปรุงโรงอาหารนักเรียน

          พ.ศ.2553  สร้างบ่อดักไขมันในโรงอาหาร  ทำโต๊ะอาหารและเก้าอี้แสตนเลสสำหรับนักเรียนในโรงอาหาร  จำนวน 30 ชุด 

          พ.ศ.2554  สร้างศาลาทรงไทย 3 หลัง อาคาร 5

                   – สร้างบ้านพักครู  จำนวน 13 ยูนิต  หลังอาคาร 5

                   – ย้ายศาลาทรงไทย  จำนวน 3 หลังจากหลังอาคาร 1  ไปสร้างใหม่ที่หน้าอาคาร 1  ด้านวัดเขมาภิรตาราม  โดยรวมศาลาจาก 3 หลังเดิมเป็น 2 หลัง

        พ.ศ.2554 – พ.ศ.2555  ได้รับงบประมาณจาก สพฐ.จำนวน 14 ล้านบาท และโรงเรียนจัดหางบประมาณสมทบ 14 ล้านบาท  สร้างอาคารเรียน 5 ชั้น   เป็นจำนวนเงิน 28 ล้านบาท จำนวน 1 หลัง ปัจจุบันคือ อาคาร 3

       พ.ศ.2554-2555 ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี จำนวน 106 ล้านบาทในการสร้างอาคารเรียน 8 ชั้น  1 หลัง ปัจจุบันคือ อาคาร 7

      พ.ศ.2557  ปรับปรุงอาคาร 7 โดยการติดตั้งแผงกั้นกันแสงรอบอาคาร

      พ.ศ.2558  ปรับปรุงบริเวณโดยรอบอาคาร 7 โดยการเทพื้นและปูกระเบื้องปรับภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียน ปรับปรุงห้องเรียนโครงการ English Program  จำนวน 1 ห้อง

      พ.ศ.2560  ปรับปรุงบริเวณโดยรอบอาคาร 3 โดยการเทพื้นและปูกระเบื้องทาสีสนามยงใจยุทธ